วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มือจับประตู

อันนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือที่คนสาย UX ถือว่าเป็นต้นแบบของหนังสือ UX ทั้งมวล


หนังสือเขาบอกว่า มนุษย์ การออกแบบที่ดี มันควรที่จะง่ายและเป็นธรรมชาติเสียจนผู้ใช้สามารถรู้ได้เองผ่านจิตใต้สำนึกว่าควรจะปฏิสัมพันธ์กับวัตถุหรือของสิ่งนั้นได้อย่างไรตามบริบทและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม และ/หรือ วัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น เราเห็นวัตถุทรงกระบอกวางอยู่ที่พื้น การจะย้ายตำแหน่งวัตถุชิ้นนั้นก็ควรจะเป็นการกลิ้ง, การใช้ป้ายที่มีเครื่องหมายตกใจก็น่าจะมีเจตนาบอกถึงการเรียกร้องให้ผู้มองเห็นสนใจ ซึ่งอาจจะนำไปสู้ข้อความสำคัญที่อยากเรียกร้องให้ผู้อื่นมามองเห็น

เป้าหมายสำคัญคือ เราควรที่จะใช้งานของสิ่งนั้นได้ตามที่มันเป็น ไม่จำเป็นต้องมีคู่มือการใช้งานแยกต่างหาก


ตัวอย่างหนึ่งที่ชอบมากคือ ผู้เขียนหนังสือบอกว่า ประตู นั้นควรจะเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่มนุษย์ควรจะมีปฏิสัมพันธ์ได้ง่ายที่สุด เพราะ
  1. ประตูมีอยู่สองความสามารถคือ ปิด และ เปิด
  2. ประตูมีรูปแบบการทำงานที่น้อยมากคือ ดึง และ/หรือ ผลัก ในกรณีประตูบานหมุน และ เลื่อน ในกรณีประตูเลื่อน
ย้อนกลับไปข้างบน ประตูนั้นเรียบง่าย ทำงานและต้องการการปฏิสัมพันธ์แค่ไม่กี่อย่าง ของที่เรียบง่ายก็ควรจะใช้งานง่ายขนาดที่แค่ใช้จิตใต้สำนึกก็รู้ว่าจะต้องใช้งานอย่างไร

ปัญหามันอยู่ตรงนี้

เรามักจะเจอกันบ่อยๆ เวลาเจอประตูในสถานที่ต่างๆ มักจะต้องมีป้ายกำกับในแต่ละด้านของประตูว่า ด้านไหนต้องผลัก ด้านไหนต้องดึง ซึ่งบางทีหากผู้ใช้ดึงในด้านที่ต้องผลัก หรือผลักในด้านที่ต้องดึง ก็อาจจะเป็นการสร้างตราบาปให้ผู้ใช้รู้สึกว่า "กูนี่โง่จริง ทำไมไม่อ่านป้าย" ไปเสีย ทั้งๆ ที่มันเป็นประตูหมุนตามแกน ถ้าคิดตามธรรมชาติการใช้งาน เราก็น่าจะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับประตูในทิศทางเดียวกับการเคลื่อนที่ของเราได้ เช่นเดินเข้าก็ผลัก เดินออกก็ผลัก


แต่ก็อาจจะมีบางกรณีที่ จำเป็นจะต้องบังคับการปฏิสัมพันธ์กับประตูเนื่องด้วยข้อจำกัดการออกแบบหรือปัจจัยใดๆ ก็ตามแต่ อาทิ การเดินเข้าต้องดึง การเดินออกต้องผลัก แต่ปัญหาพวกนี้ก็ควรจะแก้ได้ด้วยการออกแบบโดยไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมป้ายกำกับ


แน่นอนว่าการแก้ปัญหาด้วย UX นั้นมีหลายวิธี และไม่มีวิธีไหนดีกว่าวิธีไหน แต่ว่าวิธีไหนเหมาะสมกับบริบทไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ผมชอบเป็นส่วนตัว และไม่ต้องติดป้ายคือ การออกแบบมือจับประตูให้สอดคล้องกับท่าการออกแรงกับกิจกรรมของมนุษย์ เช่น
  • หากเราเจอแท่งเหล็กแนวนอนติดกับประตู เรามีแนวโน้มที่จะผลัก?
  • หากเราเจอแท่งเหล็กแรวตั้งติดกับประตู เรามีแนวโน้มที่จะดึง?
อันนี้ต้องแล้วแต่แต่ละวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมแยกไปอีก แต่หากลองนึกถึงประตูที่มีบานจับแบบนี้ จิตใต้สำนึกเราน่าที่จะสั่งให้ร่างกาย เรามีปฏิสัมพันธ์กับแท่งเหล็กทั้งสองนี้ต่างกัน ซึ่งในเชิงการออกแบบและก่อสร้างก็อาจจะเป็นปัญหาในเรื่องต้นทุน แต่หากมองเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความสุขในกับผู้ใช้ ลดภาระของสมองของผู้ใช้ รวมไปถึงการแสดงถึงความใส่ใจเล็กๆ น้อยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ ก็น่าจะเป็นการลงทุนที่สมเหตุสมผล

มือจับประตูที่ร้านขายของที่ระลึก iBerry เชียงใหม่
รูปข้างบนเจอที่เชียงใหม่ สังเกตว่ามือจับประตูจะน่ารักมากทั้ง 3 คน แสดงให้เห็นว่าผู้ออกแบบการปฏิสัมพันธ์ของลูกค้าไว้ โดยมีเจตนาให้ลูกค้าจากข้างนอก ดึงประตู และลูกค้าจากข้างในผลักประตู จากการสังเกตบริเวณรอบๆ ข้างก็พบว่า ด้านในแถวๆ ประตูมีชั้นวางของไว้ หากให้ลูกค้าจากข้างนอกผลักประตูเข้ามาก็มีแนวโน้มที่จะรบกวนลูกค้าที่อยู่ภายในร้านและยืนอยู่แถวๆ บริเวณประตู ดังนั้นการบังคับให้การออกจากร้านด้วยการผลักประตูจึงเป็นการสมเหตุสมผล


จริงๆ เรื่องนี้มันมีพื้นฐานของมันอยู่ เดี๋ยวจะเขียนแยกต่างหากทีหลัง

1 ความคิดเห็น:

  1. ปกติไม่ชอบจับมือจับประตู ชอบแตะบนประตูแล้วผลักมากกว่า โดยถ้าเป็นบานกระจก - -"

    ตอบลบ