วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

UX ของระบบค้นหาหนังสือในร้าน Kinokuniya

Kinokuniya เป็นร้านหนังสือที่มักจะมีหนังสือแปลกๆ มาขายและพนักงานในร้านมีความสามารถในการค้นหาหนังสือจากคุณสมบัติอื่นๆ ของหนังสือได้เก่งมาก อาทิ ลองให้คุณสมบัติหนังสือไปว่า หนังสือปกแดงๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการออกแบบ หน้าปกเป็นกาน้ำ พนักงานในร้านก็จะหาได้ค่อนข้างเร็ว

อีกเรื่องหนึ่งคือระบบค้นหาหนังสือภายในร้าน จำได้ว่าเคยเห็นในร้านหนังสือในเมืองไทยครั้งแรกก็ที่ศูนย์หนังสือจุฬา แต่ว่าอันนั้นไม่ได้ให้ลูกค้าทั่วไปใช้ แต่ใน Kinokuniya สาขาสยามพารากอนมีตู้ให้ค้นหนังสือ พบว่ามีการใช้งานที่น่าสนใจ เลยแอบถ่ายวิดีโอมา


มีหลายอย่างที่สังเกตแล้วน่าสนใจ ก็เลยลองวาดหน้าจอมาร้อยกัน ได้แบบนี้

รูปแสดงหน้าจอการค้นหาหนังสือ

หน้า A - เมนู

เมนูหน้าแรก
หนัาแรกน่าสนใจมากที่ Kinokuniya เปิดทางให้ผู้ใช้เลือกภาษาของหนังสือตั้งแต่หน้าแรกสิ่งที่สะดุดในใจคือ ทำไมต้องแยกภาษาของหนังสือออกจากกัน? ถ้าสาเหตุของการแยกภาษาของหนังสือออกจากกันเหตุผลที่พอจะนึกออกคือการแยกไว้สำหรับลูกค้าที่สนในหนังสือในแต่ละภาษา โดยอนุมานว่าคนญี่ปุ่นคงสนใจหนังสือภาษาญี่ปุ่น คนที่รู้ภาษาอังกฤษคงสนใจหนังสือภาษาอังกฤษ

แต่สิ่งที่น่าสงสัยคือถ้าอนุมานว่าคนญี่ปุ่นจะสนใจหนังสือภาษาญี่ปุ่นแล้ว ทำไมหมวดหนังสือภาษาญี่ปุ่น จึงใช้ปุ่มเป็นภาษาอังกฤษว่า "Japanese Books"?

หน้า B - ค้นหาหนังสือ

เมนูหน้าค้นหาหนังสือ
 หลังจากกดปุ่มเลือกภาษาของหนังสือที่เราจะค้นหามาระบบก็จะส่งผู้ใช้มายังหน้าค้นหาหนังสือ หน้านี้จะโผล่มาตอนกดเลือกหนังสือภาษาอังกฤษ ไม่แน่ใจว่าภาษาอื่นๆ จะเป็นแบบไหน แต่เข้าใจว่าคงคล้ายๆ กัน

สิ่งที่ผมพบว่ามันค่อนข้างแปลกคือ ผมเข้าใจว่ากล่องขาวๆ อันนั้นเป็นกล่องที่กดได้เพื่อกรอกข้อความ แต่ Kinokuniya ไม่ได้ออกแบบให้กล่องขาวๆ นั้นกดได้ โดยผู้ใช้จะต้องกดปุ่มสีเหลืองๆ เพื่อกรอกข้อความ อาทิ อยากค้นหาหนังสือจากชื่อเรื่องก็กดปุ่ม Title

กรณีนี้ผมคิดว่าอาจจะเป็นการเรียนรู้ต่อเนื่องมาจากหน้าแรกที่ Kinokuniya พยายามจะส่งต่อความเข้าใจในการปฏิสัมพันธ์กับ ปุ่มสีเหลือง เพื่อให้เกิด action อะไรบางอย่างก็เป็นได้

การใช้สีกับปุ่มก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นกัน กรณีนี้ก็เห็นได้ชัดว่าสีของปุ่มเพื่อกรอกข้อมูลกับค้นหานั้นแตกต่างกันชัดเจน

หน้า C - หน้าแป้นพิมพ์

แป้นพิมพ์แบบ A - Z แสดงเป็นแป้มพิมพ์ปริยาย

แป้นพิมพ์แบบ QWERTY
หน้านี้เป็นหน้าที่ตอนแรกเกลียดมาก แต่พอพิจารณาแล้วก็พบว่า Kinokuniya คิดไว้ค่อนข้างเยอะมาก

ตอนเข้ามาหน้าแป้นพิมพ์ Kinokuniya เลือกให้แป้นพิมพ์แบบปริยายเป็นแบบ A - Z ซึ่งสำหรับคนที่เคยชินกับคอมพิวเตอร์มาแล้วจะเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดมาก แต่ว่าก็ยังมีทางเลือกให้เลือก PC Keyboard Mode ที่แป้นพิมพ์จะเรียงเป็น QWERTY

สาเหตุที่เรียงแป้นพิมพ์แบบ A - Z ไว้เป็นแป้มพิมพ์ปริยายคงเป็นเพราะผู้ใช้โดยมากไม่ใช่ผู้ใช้ที่คุ้นชินกับการเรียงแป้นแบบ QWERTY อนุมานว่าคนอ่านหนังสือจะไม่ใช่คนที่ถนัดใช้คอมพิวเตอร์มากนัก การเรียงแป้นพิมพ์แบบ A - Z น่าจะเหมาะสมกว่ากับผู้ใช้หมู่มาก

หน้า D - ผลการค้นหา

หน้าแสดงผลการค้นหา

หน้านี้เป็นการแสดงผลการค้นหาทั่วไป สิ่งที่น่าจะปรับปรุงได้คือเมื่อค้นหาหนังสือได้ผลลัพธ์มาเยอะๆ แล้ว การอ่านรายการตัวอักษรหลายๆ แถวอาจจะทำให้งงได้ สิ่งหนึ่งที่น่าจะช่วยได้คือการเพิ่ม Thumbnails ปกหนังสือเล็กๆ ไว้ข้างๆ แต่ละรายการ เพื่อช่วยให้กวาดสายตาดูได้ง่ายขึ้น

หน้า E - รายละเอียดหนังสือ

หน้าแสดงรายละเอียดหนังสือ
หน้านี้จะเป็นรายละเอียดเชิงเทคนิคของหนังสือซะเยอะ เช่น ISBN, ผู้แต่ง, สารบัญ ของหนังสือ สิ่งที่น่าสนใจคือมีปุ่ม Print Map สำหรับพิมพ์แผนที่ที่ตั้งชั้นหนังสือในร้านสาขานั้น แต่ยังคงมีปัญหาคือหน้านี้ส่งเสริมให้ผู้ใช้พิมพ์แผนที่ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะบอกเป็นตำแหน่งของชั้นหนังสือบนหน้าจอไว้ก็ได้ ซึ่งการไม่แสดงแผนที่บนหน้าจอ ก็จะเป็นการจูงใจให้ผู้ใช้กดปุ่ม Print Map และในกรณีที่ไม่มีหนังสืออยู่ในสาขานั้น การ Print Map ออกมาเราก็จะได้กระดาษมาแผ่นหนึ่งบอกว่าไม่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ในร้าน ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไร

ภาพรวมของระบบค้นหาหนังสือของ Kinokuniya ดูแล้วก็สมเหตุสมผลดี นอกจากนั้นในการกดปุ่มแต่ละปุ่มระบบยังมีเสียงตุ๊งๆ เพื่อบอกว่ามี action เกิดขึ้น ซึ่งก็น่ารำคาญและดูเป็นประโยชน์กับคนแก่ในเวลาเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น