วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สร้าง Persona ควรมีอะไรบ้าง

เวลาที่สร้างตัวตนของลูกค้าขึ้นมา เราต้องการให้ตัวตนนั้นชัดเจนมากที่สุด ยิ่งถ้าทำให้คนในทีมสามารถจิตนาการออกมาได้เป็นคนเดียวกันยิ่งดีขึ้นไปอีก ดังนั้นยิ่งให้ข้อมูลมากก็ยิ่งดีหรือเปล่า? การให้ข้อมูลมาก บางทีทำให้ภาพที่ควรจะชัดกลายเป็นภาพเบลอๆ และหลายครั้งทำให้ไม่อยากอ่านเสียเปล่าๆ

การสร้างภาพของลูกค้าได้ชัดที่สุด โดยการข้อมูลให้น้อยที่สุด ผมคิดว่าอย่างน้อยควรมีข้อมูล 7 ข้อนี้ครับ

รูปภาพ 

"หนึ่งภาพแทนพันคำ" พอเราเห็นภาพปั๊บเราก็จะจิตนาการนิสัยใจคอออกมาได้ทันที ดังนั้นเราจึงพยายามหาภาพที่สื่อให้เห็นอุปนิสัยหลักๆ ของผู้ใช้ออกมาให้ได้เป็นอันดับแรก

ภาพแบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ

จากภาพตัวอย่างจะเห็นว่าภาพที่ดูเป็นทางการ จะสื่ออารมณ์ออกมาได้ไม่ดีนัก แต่ภาพที่ไม่เป็นทางการจะสามารถบอกได้ว่า คนนี้ดูเป็นคนช่างคิดนะ อายุประมาณไหน ชอบคิดอะไรทำไมคิดไปยิ้มไป จนบางครั้งอาจจะบอกได้ว่า ถ้าคนแบบนี้มาใช้โปรแกรมของเราเค้าจะคิดอย่างไร

ชื่อ

แม้ว่าในความเป็นจริง ชื่อจะไม่สามารถบอกได้ว่าคนๆ นั้นเป็นคนแบบไหน แต่ในความรู้สึกของคน ชื่อจะช่วยบอกลักษณะนิสัยใจคอได้ เช่น ถ้าชื่อตามั่น อาจจะคิดได้ว่าเค้าเป็นคุณลุงอยู่ต่างจังหวัด  หรือถ้าชื่อนิด อาจจะคิดว่าเป็นเด็กผู้หญิงน่ารักคนหนึ่ง เป็นต้น

นอกจากนั้นการตั้งชื่อยังช่วยให้การคุยกันในทีมงานง่ายขึ้น ว่าเรากำลังทำ feature บางอย่างให้ใคร เช่น ลูกค้าอย่างตามั่นอาจจะไม่สังเกตแต่เด็กน้อยอย่างนิดน่าจะชอบมาก ดังนั้นเราควรเก็บ feature นี้ไว้ให้น้องนิดดีหรือเปล่า เป็นต้น

อายุ

การบอกช่วงอายุจะช่วยให้เราคาดการได้ว่าควรออกแบบมาในแนวไหน แต่สำหรับการทำ UX เราจะไม่บอกเป็นช่วงแต่จะระบุไปเลยว่าอายุเท่าไหร เพื่อให้เราสามารถเดาความรู้สึกของผู้ใช้ได้ชัดที่สุด เร็วที่สุด ลองนึกถึงพฤติกรรมและความคิดของนักศึกษาวัย 21 ปี กับคุณแม่วัย 34 ปี เราจะนึกถึงความแตกต่างได้ทันที

ที่อยู่

คนในทีมเดียวกัน จะมีแนวโน้นที่จะมองคนที่อยู่ในที่ต่างๆ คล้ายๆ กัน เช่น ลองนึกถึงนิสัยของคนเชียงใหม่ กับนิสัยของคนนครศรีธรรมราชดู เราจะพอจิตนาการได้ว่าสองคนนี้น่าจะมีนิสัยใจคอต่างกันอย่างไร

อาชีพ

อาชีพช่วยบอกว่าคนๆ นั้นชอบอะไร หรือมีแนวโน้มที่จะใช้อะไรในการตัดสินใจ เช่น เวลาศิลปินวาดภาพมาเห็นโปรแกรมของเราอาจจะตัดสินความยากง่ายจากสีและองค์ประกอบศิลปเป็นหลัก ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์อาจจะตัดสินใจจากความชัดเจนของข้อความต่างๆ บนหน้าจอ เป็นต้น

ดังนั้นเราจะพยายามเลือกอาชีพให้ตรงกับลักษณะของบุคคลที่เราคาดหวังให้เค้ามาเป็นลูกค้าของเรา

ประวัติ

ประวิติเป็นส่วนสุดท้ายที่เราจะสร้างขึ้นมา มันจะเป็นส่วนของรายละเอียดที่ผู้ใช้คนนี้จะใช้ในการตัดสินใจในส่วนต่างๆ ของโปรแกรมเรา

นอกจากนั้นประวัติยังช่วยให้คนที่เราสร้างขึ้นมาดูสมจริงขึ้นด้วย ดังนั้นเวลาที่เราสร้างเรื่องราวของคน คนนี้ขึ้นมาเราจะพยายามสร้างให้นิสัยอย่างมีที่มาที่ไป หรือสร้างให้มีความสัมพันธ์บางอย่างกับโปรแกรมของเรา เช่น เรากำลังทำโปรแกรมแต่งภาพสำหรับมืออาชีพ ก็อาจจะสร้างเรื่องราวของเด็กชายที่ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แต่ต่อมากลับหลงไหลในการจับภาพด้วยกล้อง แต่ก็ไม่ค่อยได้ภาพที่ตรงกับจิตนาการจึงต้องนำภาพมาแต่งทุกครั้ง หลังๆ เริ่มมีคนมาจ้างให้ช่วยแต่งภาพให้จนเค้าไม่มีเวลาส่วนตัว จึงต้องเริ่มหาเครื่องมือที่ช่วยให้งานแต่งภาพเสร็จเร็วขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะใส่ข้อมูลอะไรลงใน persona จะขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่เรากำลังทำอยู่เป็นหลัก ไม่มีรูปแบบตายตัว สำคัญที่ทุกคนในทีมควรจะนึกถึงคนๆ เดียวกัน และนึกถึงคนๆ นั้นอย่างชัดเจน ถึงขนาดที่สามารถเดาพฤติกรรมของเค้าเวลาที่เข้ามาใช้โปรแกรมของเราได้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น